วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผักไฮโดรโพนิกส์แบบอินทรีย์

แนวทางการผลิตผักอินทรีย์ในระบบไฮโดรโพนิกส์

ผู้เขียน ดร.ชัยอาทิตย์ อิ่นคำ



เกษตรอินทรีย์ เป็นคำที่ได้ยินและพบเห็นอยู่บ่อยๆในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่หันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น นำไปสู่การเลือกซื้อหรือบริโภคสินค้าที่มาจากธรรมชาติเพราะมีความปลอดภัยสูง และหนึ่งในตัวเลือกแรกๆของผู้ที่รักสุขภาพ เลือกที่จะบริโภค นั่นก็คือ ?ผักอินทรีย์ ? ด้วยคำนำยามที่ว่า ผักอินทรีย์ หรือ ผักออร์แกนิก (Organic Vegetable) คือผักที่ปลูกโดยวิถีของเกษตรอินทรีย์ มีการรักษาระบบการผลิตให้เป็นไปตามสมดุลของธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารสังเคราะห์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ส่วนการให้ปุ๋ยจะอยู่ในรูปของปุ๋ยที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ผลผลิตที่ได้จึงไม่มีสารพิษตกค้าง ปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ทำลายสภาพแวดล้อม

ผักอินทรีย์ปลอดภัยปลอดภัยจริงหรือ? เป็นคำถามที่ผู้บริโภคหลายท่านมีความสงสัย เพราะกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างยุ่งยาก อาจเกิดปัญหาในเรื่องการควบคุมคุณภาพมาตรฐานได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับจรรรยาบรรณของผู้ผลิตด้วยที่ต้องมีความซื่อสัตย์และซื่อตรงต่อผู้บริโภค มีการควบคุมระบบการผลิตอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหาได้ ยกตัวอย่างกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา ในช่วงฤดูร้อนของปี 1995 ได้เกิดการระบาดอย่างหนักของเชื้อซัลโมเนลา (Salmonella) จากแคนตาลูปอินทรีย์ที่ปลูกในดินและให้ปุ๋ยสดจากมูลไก่ ทำให้เปลือกของแคนตาลูปปนเปื้อนไปด้วยเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคทางลำไส้อย่างรุนแรงแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งของการผลิตผักอินทรีย์นั่นก็คือส่วนใหญ่ทำการผลิตบนดิน ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อต่างๆได้ ถ้าขาดการจัดการที่เหมาะสม คำถามก็คือ เราสามารถ ผลิตผักอินทรีย์โดยไม่ใช้ดินได้หรือเปล่า? จากคำถามนี้ นำไปสู่ระบบการผลิตผักอีกวิธีหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน นั่นก็คือ การผลิตผักในระบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics)

การผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ เป็นระบบที่กำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เป็นการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ไม่เหมาะกับการปลูกพืช หรือพื้นที่ที่มีสภาพของดินไม่เหมาะสม โดยพืชสามารถเจริญเติบโตได้โดยอาศัยธาตุอาหารต่างๆ ที่ละลายลงในน้ำเพื่อทดแทนธาตุอาหารจากดิน เกษตรกรสามารถควบคุมปริมาณธาตุอาหารและสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสมกับพืชได้ ทำให้ได้ผลผลิตสม่ำเสมอ และสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะมีการหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงที่มากับดินได้อีกด้วย ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมีความเชื่อมั่นในความสะอาดของระบบปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ แต่อย่างไรก็ตามการปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์นั้น ไม่จัดอยู่ในกลุ่มของผักอินทรีย์ เพราะว่ายังต้องใช้ธาตุอาหารสังเคราะห์ (ปุ๋ยเคมี) ในการเตรียมสารละลายธาตุอาหารเพื่อใช้ในระบบปลูก จากหลักการนี้ ถ้าเราเปลี่ยนแหล่งของธาตุอาหารที่ใช้ในระบบปลูกไฮโดรโพนิกส์ จาก ปุ๋ยเคมี มาเป็น ปุ๋ยอินทรีย์แนวทางที่จะผลิตผักอินทรีย์ในระบบไฮโดรโพนิกส์ก็มีความเป็นไปได้




ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นปุ๋ยที่ผลิตได้จากกระบวนการ การหมัก การย่อยสลาย การดอง การสกัด การบด หรือ การป่น วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติเท่านั้น โดยกระบวนการที่กล่าวมานั้น จะทำให้วัสดุธรรมชาติที่เราใช้เป็นวัตถุดิบเกิดการสลายตัวและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้ ซึ่งในการเจริญเติบโตของพืชทั่วไปจนครบวงจรนั้น จำเป็นต้องใช้ธาตุอาหาร 16 ธาตุด้วยกัน แบ่งออกตามปริมาณความต้องการใช้ของพืชได้เป็น 2 กลุ่มคือ ธาตุที่มีความต้องการใช้ในปริมาณมาก คือ ธาตุอาหารหลัก (C, H, O, N, P, K, Ca, Mg, S) และ ธาตุที่มีความต้องการใช้น้อย (แต่ขาดไม่ได้) คือ ธาตุอาหารรอง (Fe, Mn, Cu, Zn, Mo, B, Cl) ธาตุอาหารทั้ง 16 ตัวที่กล่าวมานั้น บางตัวพืชได้รับจากน้ำและอากาศ และบางตัวก็ได้จากการย่อยสลายของซากพืชซากสัตว์

 ในการปลูกแบบอินทรีย์ พืชได้รับแหล่งของธาตุอาหารจากทั้งในอากาศ ดิน และในปุ๋ยอินทรีย์ที่เราเพิ่มให้กับพืช แต่ในระบบปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ พืชจะได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีในระดับความเข้มข้นที่เหมาะสมละลายไปพร้อมกับน้ำแล้วไหลวนผ่านรากพืช (มีการวัดและปรับ pH ในสารละลายเพื่อให้ธาตุอาหารทุกตัวอยู่ในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ได้) ดังนั้นในการปรับใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อมาทดแทนปุ๋ยเคมีที่ใช้ในระบบไฮโดรโพนิกส์ จำเป็นต้องหารูปแบบของปุ๋ยอินทรีย์ที่มีความเหมาะสมกับระบบด้วย ซึ่งปุ๋ยอินทรีย์ประเภทหนึ่งที่น่าจะมีความเหมาะสมคือ ?ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ? เป็นปุ๋ยอินทรีย์ประเภทหนึ่งที่เกิดจากการย่อยสลายเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ โดยเป็นกระบวนการหมักของจุลินทรีย์ ด้วยการเติมกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทราย ให้เป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลาย ในปุ๋ยหมักชีวภาพที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายสมบูรณ์แล้ว จะประกอบด้วยจุลินทรีย์หลายชนิดและสารประกอบจากเซลล์พืชหรือเซลล์สัตว์ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน กรดอะมิโน ธาตุอาหาร เอ็นไซม์ และฮอร์โมนพืช ในปริมาณที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาทำน้ำหมักชีวภาพ

 แนวทางการผลิตผักอินทรีย์ในระบบไฮโดรโพนิกส์ จากข้อมูลที่ได้กล่าวมานั้นจะเห็นได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะทำการผลิตผักอินทรีย์แบบไฮโดรโพนิกส์ หรือ ผลิตผักอินทรีย์โดยไม่ใช้ดิน หลักการก็คือ การแทนที่สารละลายธาตุอาหารสังเคราะห์ (ปุ๋ยเคมี) ที่ใช้ในระบบไฮโดรโพนิกส์ ด้วยปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ แต่ปัจจัยสำคัญที่เราต้องคำนึงถึง คือ ปริมาณธาตุอาหารที่พืชได้รับจากปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพต้องได้รับอย่างครบถ้วนพืชถึงจะเจริญเติบโตได้ ดังนั้นการศึกษาถึงปริมาณธาตุอาหารในสูตรปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพแต่ละสูตรจึงมีความจำเป็น เพราะแต่ละวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการหมักปุ๋ยชีวภาพจะมีการปลดปล่อยธาตุอาหารแต่ละชนิดในปริมาณที่แตกต่างกัน ซึ่งในการผลิตจริงอาจจะต้องใช้วัตถุดิบมากกว่าหนึ่งชนิดในการนำมาทำน้ำหมักชีวภาพ เพื่อให้ได้จำนวนธาตุอาหารครบตามจำนวนที่พืชต้องการ อย่างไรก็ตามเมื่อได้สูตรวัตถุดิบที่ใช้ในการทำน้ำหมักชีวภาพแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญคือความเข้มข้นของปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพที่จะใช้ในระบบปลูก ที่ต้องมีการศึกษาทดลองควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่จะได้รูปแบบการผลิตผักอินทรีย์ในระบบไฮโดรโพนิกส์ที่สมบูรณ์ และความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้บริโภค

ขอบคุณข้อมูลจาก http://stri.cmu.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น