วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ขั้นตอนและวิธีการปลูกพืชไม่ใช้ดินHydroponics

ขั้นตอนและวิธีการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
ปลูกพืชไม่ใช่ดิน

     การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน จะมีการจัดการอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ในส่วนของพืช และส่วนของสารละลายธาตุอาหาร

การจัดการพืช
         ความสำเร็จของการผลิตอยู่ที่ความแข็งแรงและความสมบูรณ์ของต้นกล้า เพราะจะทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็ว วิธีการเพาะกล้ามีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เช่น การเพาะกล้าในถ้วยเพาะแบบสำเร็จรูป โดย ใช้ เพอร์ไลท์ และ เวอร์มิคูไลท์ เป็นวัสดุที่ใช้เพาะ, การเพาะกล้าในแผ่นฟองน้ำ ส่วนมากจะนิยมปลูกในรูปของแผ่นโฟม และ การเพาะกล้าในวัสดุปลูก ซึ่งใช้วัสดุที่ได้จากทั้งในและต่างประเทศ เช่น เวอร์มิคูไลท์ หินฟอสเฟต เพอร์ไลท์ ขุยมะพร้าว แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หินกรวด ทราย เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระบบที่ใช้ปลูก

การจัดการด้านสารละลาย

        ในสารละลายธาตุอาหารที่ใช้ปลูกพืชจำเป็นต้องมีการควบคุมค่า pH และ EC ของสารละลายเพื่อให้พืชสามารถดูดปุ๋ยหรือสารละลายธาตุอาหารได้ดี ตลอดจนต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและออกซิเจนในสารละลาย ธาตุอาหาร

การรักษาหรือควบคุมค่า pH ของสารละลายธาตุอาหารพืช
ค่า pH หมายถึง ค่าความเป็นกรดเป็นด่างของสารละลายธาตุอาหารพืช
          สาเหตุที่ต้องมีการควบคุม pH เพื่อให้พืชสามารถดูดใช้ปุ๋ยหรือสารอาหารได้ดี เพราะค่าความเป็นกรดเป็นด่างในสารละลายจะเป็นค่าที่บอกให้ทราบถึงความสามารถของปุ๋ยที่จะอยู่ในรูปที่พืชสามารถดูดธาตุอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในสารละลายธาตุอาหารพืชได้ ถ้าค่า pH สูงหรือต่ำเกินไป อาจทำให้เกิดการตกตะกอน หากสารละลายธาตุอาหารพืชมีความเป็นกรดมากเกิน สามารถปรับ โดยใช้โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือ แอมโมเนียมไฮดรอก-ไซด์ (NH4OH) หากสารละลายธาตุอาหารมีความเป็นด่างมากเกิน สามารถปรับโดยเติมกรดซัลฟูริก (H2SO4) กรดไนตริก (HNO3) กรดไฮโดรคลอริก (HCl) กรดฟอสฟอริก (H3PO4) หรือ กรดอซิติก (CH3COOH)

      เครื่องมือที่ใช้วัดค่าความเป็นกรดเป็นด่าง คือ pH meter ก่อนใช้ควรปรับเครื่องมือให้มีความเที่ยงตรงก่อน โดยใช้น้ำยามาตรฐานหรือที่เรียกว่า “สารละลายบัฟเฟอร์มาตรฐาน” (Buffer Solution)

การควบคุมค่า EC ของสารละลายธาตุอาหารพืช
        ชนิดของพืช ระยะการเติบโต ความเข้มของแสง และขนาดของถังที่บรรจุสารอาหารพืช สภาพภูมิอากาศก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่า EC เนื่องจาก โดยทั่วไปเมื่อพืชยังเล็กจะมีความต้องการ EC ที่ต่ำ และจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพืชมีความเจริญเติบโตที่มากขึ้น และพืชแต่ละชนิดมีความต้องการค่า EC แตกต่างกัน เช่น

ผักสลัด มีความต้องการสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC ระหว่าง 0.5 – 2.0 mS/cm
แตงกวา มีความต้องการสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC ระหว่าง 1.5 – 2.0 mS/cm
ผักและไม้ดอก มีความต้องการสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC ระหว่าง 1.8 – 2.0 mS/cm
มะเขือเทศ มีความต้องการสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC ระหว่าง 2.5 – 3.5 mS/cm
แคนตาลูป มีความต้องการสารละลายธาตุอาหารที่มีค่า EC ระหว่าง 4 – 6 mS/cm

       เครื่องมือที่ใช้วัดค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) เรียกว่า EC meter ก่อนใช้ควรปรับ ความเที่ยงตรงเสียก่อน โดยปรับที่ปุ่มของเครื่องในสารละลายมาตรฐาน ซึ่งค่าที่วัดได้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของสารละลาย กล่าวคือ ยิ่งสารละลายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ค่า EC ก็จะสูงขึ้นตามด้วย

Hydroponics

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
        ผักเป็นพืชที่มีความบอบบางจึงทำให้เกิดความเสียหายได้ง่าย โดยเฉพาะการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรค โดยเฉพาะเชื้อบักเตรี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่ทำให้เกิดความเสียหาย ได้แก่ การตัดแต่ง การบรรจุ การเก็บเกี่ยว และการขนส่ง โดยเฉพาะผักที่ปลูกในระบบไม่ใช้ดิน จะมีการสูญเสียได้ง่าย เนื่องจากผักที่ปลูกในระบบนี้มีความอวบน้ำมาก จึงทำให้เกิดการสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าผักที่ปลูกในดิน

การตลาดของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน
      ในปัจจุบันประชาชนได้ให้ความสนใจกับการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินเพิ่มมากขึ้น และในการทำธุรกิจนี้ ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกผักกินใบมากกว่า เนื่องจากมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นสามารถขายได้บ่อยครั้งกว่า และง่ายต่อการดูแลรักษา

       แต่เดิมตลาดส่วนใหญ่ของพืชที่ปลูกในระบบนี้มีทั้งที่จำหน่ายหน้าสวนตัวเอง มีพ่อค้าคนกลางมารับและมีการขายส่งไปยังแหล่งต่างๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ตลาดกลางและห้างสรรพสินค้า ผลผลิตส่วนใหญ่เป็นผักสลัด ซึ่งมีราคาขายค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการหลายราย ได้ปลูกผักไทย เช่น ผักคะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง เป็นต้น และมีการวางจำหน่ายตามตลาดนัดทั่วไปในราคาที่ไม่แพง จึงทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยสามารถซื้อผลผลิตได้เช่นกัน ซึ่งจัดว่าเป็นการขยายตลาดที่ดีอีกวิธีหนึ่ง

การปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น